โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย อาการเริ่มต้นจนถึงการรักษา


ไข้เลือดออก

หากพูดถึงไข้เลือดออกคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะโรคนี้เกิดจากยุงลายที่ทุกๆบ้านต่างเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีน้ำขัง ฝนตก ยุงชุม หากโดนยุงกัดก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ อาการของไข้เลือดออกนั้นค่อนข้างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ ไปดูกันเลยว่าอาการของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร จะมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง

เลือกหัวข้อที่คุณสนใจ

ไข้เลือดออก คืออะไร

โรคไข้เลือดออก คืออะไร

ไข้เดงกี (dengue fever : DF) และไข้เลือดออก (dengue hemorrhage fever : DHF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัส dengue ที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน 

เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้


สาเหตุที่ทำให้เป็นไข้เลือดออก

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส dengue ซึ่งมี 4 ซีโรทัยป์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 ที่นำโดยยุงลาย (Aedesaegypti, A. albopictus) ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์ที่เคยได้รับไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์อื่นในระยะสั้น ประมาณ 3 – 12 เดือน


อาการและความรุนแรงของไข้เลือดออก

อาการและความรุนแรงของไข้เลือดออก

  • มักจะมีไข้ขึ้นสูง 2-7 วัน (อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส)    

  • เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง 

  • ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เลือดออก

  • อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากมีตับโตในช่องท้อง มักกดเจ็บบริเวณชายโครงข้างขวา

    * ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะอาการไม่มากและหายได้เอง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง เลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร หรือมีสารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดมากจนความดันต่ำ ช็อกและหมดสติ


อาการที่ไข้เลือดออกแตกต่างจากไข้หวัด

เราสามารถสังเกตได้ว่าไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกเป็นจุด ๆ ตามร่างกาย ในขณะที่โรคไข้หวัดจะมีอาการไข้สูงติดต่อกัน และมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อย่างเช่น มีอาการไอ หรือมีอาการน้ำมูกร่วมด้วย

หากเป็นไข้เลือดออก เมื่อไข้ลง ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถพบภาวะช๊อกหรือเลือดออก อาจถึงแก่ชีวิตได้  หากมีไข้สูงต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป เช็ดตัวและทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น ควรมาโรงพยาบาล


การติดต่อของไข้เลือดออก

การติดต่อของไข้เลือดออก

การแพร่กระจายของไวรัส dengue อาศัยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยยุงลายเพศเมียดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในระยะที่มีไวรัสในกระแสเลือด (Viremia) โดยทั่วไประยะ viremia จะอยู่ในช่วง 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ 

เมื่อยุงลายได้รับเชื้อไวรัส dengue จะใช้ระยะเวลาฟักตัว (Extrinsic incubation period ; EIP) ประมาณ 8 – 12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้ และเมื่ออีกคนได้รับเชื้อไวรัส dengue จะใช้เวลาประมาณ 3 – 14 วัน (เฉลี่ย 4 – 7 วัน) (Intrinsic incubation period; IIP) ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้


การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

  • ติดตามอาการและอาการแสดงของไข้เดงกี และไข้เลือดออกเดงกี 

  • ตรวจหา warning signs เช่น ปัสสาวะลดลง มีเลือดออกจากเยื่อบุต่าง ๆ หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง อาเจียน เพื่อพิจารณารับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

  • แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ หรือพิจารณาให้สารน้ำทางเส้นเลือดอย่างเหมาะสม

  • ระมัดระวังการให้ยาลดไข้ paracetamol หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เช่น ยา NSAIDs,

  • H2-blocker 

  • การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทุก 1-3 วัน

  • ส่งตรวจ CBC (หรือbloodsmear)

  • ควรตรวจ tourniquet test


การปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก

  1. ดื่มน้ำ หรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ วิธีสังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือ ให้สังเกตปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่          

  2. รับประทานยาลดไข้ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามเกินขนาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลได้         

  3. ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย และมากขึ้นได้           

  4. หากอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนมาก ดื่มน้ำเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มือเท้าเย็น ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าผู้ป่วยอาจมีความดันเลือดต่ำและช็อกได้           

  5. โรคไข้เลือดออก ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือรับประทานอาหารร่วมกัน          

  6. เมื่อมีไข้หากจะอาบน้ำ ให้อาบด้วยน้ำอุ่น หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เพราะหากใช้น้ำเย็น ผู้ป่วยจะสูญเสียความร้อนจากร่างกายมาก อาจเกิดอาการสั่นได้ 


วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก

วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก

  1. พยายามอย่าให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง หากต้องการทำงานอยู่ในที่ที่อาจมียุงกัด ให้ทายากันยุงที่ผิวหนัง      

  2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน เช่น  ปิดตุ่มน้ำ, เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง, น้ำหล่อขาตู้กับข้าวให้ใส่ทรายอะเบท, ขวดแก้ว ภาชนะที่อาจมีน้ำขังให้คว่ำ รวมทั้งหลุมบ่อรอบบ้านที่อาจมีน้ำขัง ให้กลบทำลายเพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

  3. ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง ช่วยลดปริมาณยุงได้ 3-7 วัน และเป็นการตัดวงจรการระบาดในที่ ๆ มีผู้ป่วยไข้เลือดออก


วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนเข้าไปแล้วจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจะไปจับกับไวรัสดังกล่าวทำให้ไม่เกิดโรค โดยวัคซีนชนิดนี้คนที่สามารถรับได้นั้นต้องอยู่ในช่วงอายุ 9-45 ปี

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

ข้อแนะนำคือควรฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ทิ้งระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนระยะห่างของเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เป็นเวลา 6 เดือนเช่นกัน

วัคซีนชนิดดังกล่าวสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 66% จุดเด่นของวัคซีนคือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ หรือลดอัตราการนอนโรงพยาบาลลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 สำหรับระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนนั้นต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากอยู่ในระหว่างวิจัยและยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน  



 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงสุพรรษา เหนียวบุบผา
  แก้ไขล่าสุด : 28/06/2023

free web counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้