ตากุ้งยิง [โรคตา] ยอดฮิต!! รักษาได้ คลายกังวล


ตากุ้งยิง

อาการเจ็บๆ คันๆ ปวดระบมที่เปลือกตา เกิดเป็นตุ่มคล้ายๆ ฝีเม็ดเล็กๆ ขึ้นมาคงจะหนีไม่พ้นอาการตากุ้งยิง หรือต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เมื่อเป็นแล้วก็มีบางรายที่สามารถหายเองได้แต่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานทั้งยังส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

   บางรายอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุด
เราไปดูกันว่าจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างและควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นตากุ้งยิง  


 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคตากุ้งยิงที่คุณควรรู้

ลักษณะของตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิงเกิดจากอะไร

ตากุ้งยิง เป็นการติดเชื้อของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยคือ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่มักพบตามผิวหนัง

มักพบในผู้ป่วยที่มีเคยประวัติต่อมไขมันเปลือกตาอุดตันหรือเปลือกตาอักเสบ หรือในรายที่ชอบขยี้ตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือมีการแต่งหน้าบริเวณเปลือกตาบ่อย ล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นตากุ้งยิงมากขึ้น


 

ตากุ้งยิง มีกี่ชนิด

มีสองชนิด คือ ชนิดด้านใน (Internal hordeolum) และ ชนิดด้านนอก (External hordeolum) ซึ่งต่างกันตรงบริเวณตำแหน่งของต่อมที่ติดเชื้อ

ตากุ้งยิงชนิดด้านใน

ชนิดด้านใน (Internal hordeolum) 

ตากุ้งยิงแบบหลบใน จะเกิดการติดเชื้อที่ขอบด้านในเปลือกตาใกล้กับดวงตา ผู้ป่วยจึงมีอาการหนังตาบวมแดง ไม่เห็นตุ่มหนองชัดเจน

ตากุ้งยิงชนิดด้านนอก

ชนิดด้านนอก (External hordeolum)

ตากุ้งยิงแบบหัวผุกออกมาภายนอก จะเกิดการติดเชื้อที่ขอบด้านนอกของเปลือกตา จึงเห็นเป็นตุ่มหนองชัดเจนบริเวณเปลือกตาด้านนอก

อาการเริ่มต้นของตากุ้งยิง

อาการเริ่มต้นของตากุ้งยิง

ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บบริเวณเปลือกตา ร่วมกับเปลือกตาบวมแดง หากเป็นชนิดด้านนอกก็จะสามารถเห็นตุ่มหนองชัดเจนที่เปลือกตาได้ อาจมีอาการเคืองตาด้วยร่วม  ในบางรายตุ่มหนองอาจจะแตกได้เอง ทำให้มีขี้ตาปนหนองออกมาได้

และตากุ้งยิงเป็นโรคของเปลือกตา จึงไม่มีผลต่อการมองเห็น หากมีการมองเห็นลดลงจำเป็นต้องพบจักษุแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจเป็นโรคอื่นที่รุนแรง


ตากุ้งยิงเป็นกี่วันถึงจะหาย

ตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย


เป็นตากุ้งยิงแล้วหายเองได้ไหม

เป็นตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนและเป็นไม่รุนแรง โดยแนะนำให้ผู้ป่วยประคบอุ่นบริเวณเปลือกตาและนวดเปลือกตาเบาๆเพื่อให้ก้อนหนองและการติดเชื้อระบายได้ดีขึ้น ร่วมกับเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด

หลังจากหาย อาจเกิดป็นตุ่มบริเวณเปลือกตาได้ (Chalazion) ซึ่งสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลาเป็นเดือน


ต้องกินยาอะไรเมื่อเป็นตากุ้งยิง

ต้องกินยาอะไรเมื่อเป็นตากุ้งยิง

เมื่อคุณเป็นตากุ้งยิง สามารถทานยาแก้ปวด Paracetamol และแก้อักเสบได้หากมีอาการปวดที่เปลือกตาเยอะ ในบางรายที่มาพบแพทย์อาจมีการจ่ายยาฆ่าเชื้อชนิดกินหรือทา ขึ้นกับความรุนแรงและดุลยพินิจแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเราขอแนะนำให้มาพบแพทย์นะคะ


เมื่อเป็นตากุ้งยิงห้ามกินอะไร

ตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคภายนอก ไม่จำเป็นต้องห้ามกินอะไร แต่เน้นไปที่การประคบอุ่นและการทำความสะอาดเปลือกตา งดขยี้ตา และใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและสิ่งสกปรก


โรคตากุ้งยิงรักษาอย่างไร

  • การรักษาโรคตากุ้งยิงในเคสที่ไม่รุนแรง แนะนำให้ประคบอุ่น อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที ร่วมกับทำความสะอาดเปลือกตาด้วยการเช็ดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด และนวดเปลือกตาเบาๆเพื่อเพิ่มการระบายหนอง สามารถทานยา Paracetamol เพื่อลดอาการปวดบวมได้ งดขยี้ตา และใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและสิ่งสกปรก

  • หากผู้ป่วยไม่มั่นใจ แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากในเคสที่มีการติดเชื้อเยอะหรือมีการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียงร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับ ทายาฆ่าเชื้อ จึงจะสามารถหายได้ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเอง เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงและมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น

  • ในเคสที่รักษาด้วยการประคบอุ่นและการใช้ยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาจักษุแพทย์ เนื่องจากอาจต้องรักษาด้วยการเจาะกรีดระบายหนอง (Incision & drainage) หรือส่งชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม


คำแนะนำก่อนเจาะหนอง

คำแนะนำก่อนเจาะหนอง

  1. งดใช้กลุ่มยา warfarin หรือ aspirin (ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด) ก่อนทำการเจาะเอาหนองออก และควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของอายุรแพทย์

  2. วันที่เจาะตากุ้งยิง แนะนำให้คนไข้ล้างหน้า สระผมให้สะอาดไม่ใช้ครีมหรือน้ำมันบนศีรษะ และงดใช้เครื่องสำอางแต่งหน้า  

  3. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่น ควันและมลภาวะ เมื่อออกไปในสถานที่ที่ฝุ่นเยอะแนะนำให้ใส่แว่นเพื่อกันฝุ่นและแสง


การปฏิบัติตัวหลังเจาะหนอง

  1. หลังเจาะหนองออกแล้ว แพทย์จะใช้ผ้าปิดตาไว้เพื่อเป็นป้องกันฝุ่นละอองเข้าตาและเป็นการรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตาด้วย 

  2. เปิดผ้าปิดตาออกได้หลังภายใน 12-24 ชั่วโมง และใช้ยาตามแพทย์สั่งได้เลย หากมีอาการปวด สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่ม Paracetamol ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 เม็ด หรือตามคำแนะนำของแพทย์

  3. งดห้ามขยี้ตาเด็ดขาด

  4. ในวันถัดมาเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาอย่างระมัดระวัง ด้วยผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำอุ่นบิดหมาด

  5. งดการใส่คอนแทคเลนส์ในระยะรักษาตากุ้งยิง

  6. ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งจ่ายยาปฎิชีวนะ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมด หากมียาหยอดหรือยาป้ายให้ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 7 วัน

  7. ล้างมือให้สะอาดก่อนการสัมผัสบริเวณรอบดวงตาทุกครั้ง

  8. หากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที เช่น ปวดตามาก เปลือกตาหรือบริเวณที่เจาะหนองบวมช้ำมาก มีอาการตาแดง


มาพบแพทย์เื่อรักษาตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเมื่อเป็นแล้วแม้ว่าจะสามารถหายเองได้ แต่ก็ต้องอาศัยระยะเวลาและการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งขัด เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นตามมา แต่หากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาการยังไม่รุนแรงมาก ย่อมดีกว่าการปล่อยให้เชื้อลุกลาม

ข้อมูลอ้างอิง

  • คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางจักษุวิทยา โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาจักษุวิทยา

  • American Academy of Ophthalmology. Infectious diseases of the external eye: clinical aspects. External Disease and Cornea. San Francisco, CA: LEO; 2006-2007. 8:

  • Hordeolum , https://emedicine.medscape.com/article/1213080-overview


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงณัฐวดี ศรีบริสุทธิ์
  แก้ไขล่าสุด : 26/06/2023

website hits counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้