ไข้หวัดใหญ่ อาการ สาเหตุที่คุณต้องรู้ และวิธีรักษาให้หายดี

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็ก มักระบาดในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน ติดต่อได้ง่าย และมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ การรักษาจะเป็นการให้ยาตามอาการ หากมีไข้สูง

  อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์

เรื่องน่ารู้ไข้หวัดใหญ่ เลือกหัวข้อที่คุณสนใจ


ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า อินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) มีความรุนแรงกว่าโรคหวัดธรรมดามาก พบได้ในทุกเพศทุกวัย จะระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

อ่านเพิ่มเติม : อาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร


โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร

ติดต่อได้ทางลมหายใจ ไอ จาม การหายใจรดกัน หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสจากการสัมผัสน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย นำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากก็สามารถทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้


อาการของไข้หวัดใหญ่

อาการไข้หวัดใหญ่

  1. ไข้สูง หนาวสั่น 

  2. ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดกล้ามเนื้อมาก 

  3. ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา

  4. ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก

  5. อ่อนเพลียมาก รู้สึกเหนื่อยง่าย

  6. ในผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะเด็กเล็กอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมได้ด้วย


  ดูราคายาต้านไข้หวัดใหม่ที่นี่ 

อาการระยะแรกของไข้หวัดใหญ่

อาการเบื้องต้นไข้หวัดใหญ่ ที่สังเกตได้คือจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น มักมีอาการปวดเมื่อยตามตัวมากโดยเฉพาะต้นแขน ต้นขา และบริเวณหลัง อ่อนเพลียมาก คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ ซึ่งหากใครที่มีอาการที่กล่าวมาข่างต้นหรือมีประวัติบุคคลใกล้ชิดเป็น ก็ควรรีบมาพบแพทย์และเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็ว



ส่วนใหญ่เคสไข้หวัดใหญ่จะเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย แต่ก็เคยเจอคนที่ไข้ต่ำๆ
อาการไม่มากแต่ตรวจพบเชื้อก็มี ทางที่ดีหากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ
อ่อนเพลีย
ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุดีกว่าค่ะ


แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) 

พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์

ลักษณะอาการที่ควรไปพบแพทย์

อาการไข้สูงเกิน 39 - 40 องศาเชียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1 - 2 วัน มีผื่นขึ้น ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย ไอมาก มีเสมหะ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และอาการไม่ดีขึ้นหลังไข้ลง หรือหลังไข้ลงกลับมามีไข้อีก ควรรีบมาพบแพทย์และเข้ารับการวินิจฉัยโรคโดยเร็ว


ประสบการณ์รักษาไข้หวัดใหญ่

"เคยเจอเป็นเคส เด็กหญิง อายุประมาณ 7 ขวบ ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีอาการไข้ไอเจ็บคอกินยาลดไข้ ไข้ไม่ลด คุณแม่ไปร้านขายยาซื้อยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาทาน 4 วัน อาการยังไม่ดีขึ้นเลยมาหาหมอ

ตรวจไข้พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A ส่งเอกซเรย์ปอดพบปอดอักเสบ เคสนี้ต้องนอนโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสและให้สารน้ำทางเส้นเลือด"

ประสบการณ์การรักษาของแพทย์
- แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) -


อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่

ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่ได้รับการรักษาช้าสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้

ไซนัสอักเสบ

อาการแทรกซ้อนแบบไม่รุนแรง

เป็นภาวะร่างกายขาดน้ำ ไซนัสอักเสบ (แน่นจมูก มีน้ำมูก เสมหะสีเขียวข้น เจ็บบริเวณหัวตา จมูกและคิ้ว), หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก), หลอดลมพอง (เสมหะเกิดการคั่งอยู่ในหลอดลม หากเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ไอเป็นเลือดได้) และอาจมีอาการหูชั้นในอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ 

ปอดอักเสบ

อาการแทรกซ้อนแบบรุนแรง

ปอดอักเสบ สมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มมองอักเสบ เกิดอัมพาต ชัก แขนขา อ่อนแรง และโคม่า เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลอดเลือดดำ อักเสบร่วมกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการกำเริบของโรคเดิมที่เป็นอยู่

  กลับสู่เมนูด้านบน  


กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

คนที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่

  1. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต  โรคทางสมอง โรคลมชัก โรคเลือดธาลัสซีเมีย

  3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ

  4. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป

  5. เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี รวมถึงเด็กที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพรินเป็นเวลานาน

  6. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

  7. บุคคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย


อาการไข้หวัดใหญ่ที่หมอเคยรักษา

"คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วจะเสี่ยงกว่าปกติค่ะ ที่หมอเคยเจอคือเคสผู้ใหญ่ เป็นผู้ชายอายุ 50 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มีอาการไข้ น้ำมูกไหล คนไข้นึกว่าตัวเองเป็นหวัดธรรมดา ไปร้านขายยาซื้อยามาทานเอง 3-4 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น รู้สึกเพลียมาก ทานอาหารไม่ได้เลย

พอมาพบแพทย์ ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ B เอกซเรย์พบว่าปอดอักเสบ ต้องได้รับยาต้านไวรัสทันทีและนอนโรงพยาบาลเช่นกัน"

ประสบการณ์การรักษาของแพทย์
- แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) -


วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่

ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษา คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งจะได้ประโยชน์มากที่สุดหากได้รับยานี้ภายใน 48 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการรับประทานติดต่อกัน 5 วัน ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการของโรคและการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

ส่วนการดูแลอื่นๆ จะเป็นการให้ยาตามอาการเหมือนผู้ป่วยทั่วไป หากมีอาการไอ มีน้ำมูกให้ใช้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูกได้ตามอาการ 


กินยาลดไข้หรือพาราเซตามอล
ตามแพทย์แนะนำ
ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพราะอาจ
เกิดโรคแทรกซ้อนทางสมองได้  


  ดูราคายาต้านไข้หวัดใหม่ที่นี่  

ตรวจรักษาและรับยาไข้หวัดใหญ่กับแพทย์
ส่วนใหญ่จะให้ยาต้านไวรัสกับทุกคนที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อลดระยะเวลาแสดงอาการและภาวะแทรกซ้อน
ในคนที่อ่อนเพลียมากทานอาหารไม่ได้ จะต้องมีการให้สารน้ำทางเส้นเลือด  ถ้ามีอาการหอบเหนื่อย ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำหรือเอกซเรย์พบปอดอักเสบ
จะต้องนอนโรงพยาบาลให้ออกซิเจน พ่นยาขยายหลอดลม และสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิด

คำวินิจฉัยการรักษาของแพทย์
- แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) -

หากไม่รักษาไข้หวัดใหญ่ หรือรักษาช้าจะส่งผลอย่างไร

ถึงแม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายเองได้ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวไปจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้อาจยังเพิ่มความรุนแรงของอาการและเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อให้แก่บุคคลใกล้ชิดได้อีกด้วย


บทความที่น่าสนใจ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล
  แก้ไขล่าสุด : 26/04/2024

website counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้