ปวดศีรษะปฐมภูมิ สาเหตุและวิธีบรรเทา

ปวดศีรษะปฐมภูมิ สาเหตุและวิธีบรรเทา

บางครั้งเราอาจปวดหัวโดยไม่มีโรคหรือภาวะอื่นเป็นสาเหตุ ซึ่งอาการแบบนี้เรียกว่า “ปวดศีรษะปฐมภูมิ” หลายคนอาจไม่คุ้นกับคำนี้ แต่ถ้าพูดถึง ไมเกรน, ปวดหัวคลัสเตอร์ หรือปวดหัวจากความเครียด ก็คงร้องอ๋อแน่นอน! อาการเหล่านี้พบได้บ่อย และมีสาเหตุจากปัจจัยภายในร่างกายเอง เช่น การทำงานของสารเคมีในสมองหรือความเครียด

ลองมาดูกันว่าอาการปวดศีรษะปฐมภูมิมีแบบไหนบ้าง และจะรับมือกับมันอย่างไร!

รู้จักอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ

ปวดศีรษะปฐมภูมิ คืออะไร

ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า อาการปวดศีรษะสามารถแบ่งได้หลักๆเป็น 2 ประเภท คือ

ปวดศีรษะปฐมภูมิ

ปวดศีรษะปฐมภูมิ คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มีความผิดปกติของสมอง อาจเกิดจากความเครียด หรือ การกระตุ้นที่ผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

อาการในกลุ่มนี้ มักมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น ความเครียด, พักผ่อนน้อย, ทำงานหนัก, อากาศร้อน, แดดหรือแสงจ้า, การดื่มแอลกอฮอล์, สูดดมกลิ่นบุหรี่ หรือเป็นประจำเดือน เป็นต้น

แม้ว่าอาการปวดในกลุ่มนี้ มักจะไม่อันตราย แต่หากมีอาการเรื้อรังจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ปวดศีรษะทุติยภูมิ

อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติอื่นๆ ในสมอง เช่น โรคติดเชื้อในสมอง ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เลือดออกในสมอง โรคโพรงจมูกอักเสบ ก้อนเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อาการปวดศีรษะในกลุ่มนี้ แม้จะพบได้น้อย แต่จำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรก เนื่องจากอาจอันตรายถึงชีวิตได้

มีอาการปวดหัว พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์

ปวดศีรษะปฐมภูมิ ต่างจากทุติยภูมิอย่างไร

อาการปวดศีรษะปฐมภูมิเกิดจากปัจจัยภายนอกและไม่อันตรายร้ายแรง ในขณะที่ปวดศีรษะทุติยภูมิสัมพันธ์กับโรคหรือภาวะผิดปกติที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรง 

ประเภทของอาการปวดศีรษะปฐมภูมิ

ปวดหัวจากความเครียด

ปวดหัวจากความเครียด (Tension headache)

  • เป็นการปวดหัวชนิดที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด

  • ลักษณะอาการปวด: ผู้ป่วยจะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกบีบ หรือรัดแน่นบริเวณขมับ 2 ข้างและหน้าผาก ซึ่งอาจมีอาการปวดบริเวณท้ายทอยหรือ กดเจ็บที่หนังศีรษะร่วมด้วยร่วมด้วย

  • สาเหตุ: เกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ ขมับและหนังศีรษะเกิดการตึงตัว

  • สิ่งกระตุ้น: เกิดจากความเครียด, ความกังวล, ภาวะซึมเศร้า หรือเคยได้รับการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

พบแพทย์ ที่อินทัชเมดิแคร์

ปวดหัวไมเกรน

ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache)

  • ลักษณะอาการปวด: ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียว (ปวดหัวข้างเดียว) มีลักษณะปวดตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจร อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงหรือเสียงร่วมด้วย อาการเป็นหลักชั่วโมงหรือเป็นวัน บางครั้งอาจมีอาการนำ (Aura) เช่น เห็นแสงวูบวาบ หรือชาบริเวณใบหน้า มือ หรือเท้า

  • สาเหตุ: อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนเกิดจากการกระตุ้นที่ผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณศรีษะ

  • สิ่งกระตุ้น: ความเครียด, การนอนไม่เพียงพอ, อาการขาดคาเฟอีน, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ก่อนมีประจำเดือน หรือการกินยาคุม การดื่มแอลกอฮอล์ เสียงดัง แสงจ้า กลิ่นฉุน การสูบบุหรี่หรือควันบุหรี่

ปวดหัวคลัสเตอร์

ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster headache)

  • ลักษณะอาการปวด: เป็นอาการปวดหัวที่ค่อนข้างรุนแรง มักมีความรู้สึกปวดจี๊ดหรือเหมือนถูกแทง อาจเริ่มจากบริเวณรอบดวงตาข้างใดข้างหนึ่งแล้วกระจายไปบริเวณหน้าหรือศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง

  • อาการที่พบร่วม: น้ำตา/น้ำมูกไหลบริเวณข้างที่ปวด, ตาแดง, หน้าบริเวณข้างที่ปวดแดง/บวม อาการปวดมักเกิดในรูปแบบคล้ายแบบเดิม (Cluster) คือ มีอาการปวดได้ตั้งแต่ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 30-45 นาที มักเป็นในช่วงเวลาเดิมทุกวัน เป็นเวลาหลักสัปดาห์ถึงเดือน

  • สาเหตุ: ของอาการปวดหัวคลัสเตอร์ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจนแต่คาดว่ามีความผิดปกติของสมองส่วน Hypothalamus

  • สิ่งกระตุ้น: การดื่มแอลกอฮอล์ การเปลี่ยนของสภาพอากาศ ยาบางชนิด

อาการปวดศีรษะแบบใดที่ควรพบแพทย์

ปวดหัวแบบไหนควรไปหาหมอ
  • ปวดศีรษะที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และมีความรุนแรงมาก

  • ปวดศีรษะร่วมกับมีอาการทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรง เดินเซ พูดไม่ชัด ตาพร่ามัว ภาพซ้อน ชัก สับสนหรือมี พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง 

  • ปวดหัวร่วมกับมีไข้ คอแข็ง 

  • ปวดร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่รุนแรง 

  • ปวดมากจนทำให้ตื่นกลางดึก

  • อาการปวดที่เกิดขึ้นใหม่ ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

  • ปวดที่บริเวณใบหน้า ดวงตา หู กราม หรือ ฟันโดยไม่ทราบสาเหตุ 

  • มีอาการปวดหัวที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ทุเลาหลังได้รับการรักษาเบื้องต้น 

  • อาการปวดหัวในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคมะเร็ง หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

  • มีอาการปวดหัวในมีลักษณะที่แตกต่างจากการปวดหัวที่เคยเป็นในอดีต

  • มีอาการปวดโดยเกิดขึ้นภายหลังได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ

พบแพทย์ ที่อินทัชเมดิแคร์

วิธีบรรเทาอาการปวดศีรษะปฐมภูมิด้วยตนเอง

หากยังไม่มีอาการข้างต้น สามารถรักษาเบื้องต้นได้ดังนี้

วิธีบรรเทาอาการปวดศีรษะปฐมภูมิด้วยตนเอง
  1. รับประทานยาสามัญประจำบ้าน เช่น Paracetamol ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs 

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ

  3. หากิจกรรมคลายเครียด

  4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการปวดหัวจากความเครียด ที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ บ่า และไหล่ สามารถใช้การยืดกล้ามเนื้อ การนวด หรือกายภาพบำบัดในการรักษาได้ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  5. แนะนำให้พบแพทย์หากรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำบ่อย

การรักษา

การรักษาในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะกรณีที่มีอาการปวดศีรษะปฐมภูมิ หลังจากทำการรักษาเบื้องต้นไม่ดีขึ้น

  • ปวดหัวจากความเครียด กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเรื้อรังอาจสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ควรรักษาด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น แพทย์อาจมีการรักษาโดยใช้ยา Amitriptyline โดยให้ทำการรับประทานนานติดต่อกันนาน 3-6 เดือน

  • ปวดหัวจากไมเกรน ในผู้ป่วยไมเกรน หากรักษาด้วยยาแก้ปวดเบื้องต้นไม่หาย หรืออาการปวดศีรษะเป็นอย่างรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Ergot อมใต้ลิ้น หรือ ยากลุ่ม Triptan หากมีอาการปวดศีรษะบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห หรือมากกว่า 2-3 ครั้งต่อเดือน จะแนะนำให้ใช้ยาเพื่อป้องกันการกำเริบของอาการไมเกรน ตัวยาที่ใช้ เช่น Amitriptyline,  Flunarizine, ยากลุ่ม Beta-Blocker, ยากลุ่ม Calcium channel blocker, ยารักษาโรคซึมเศร้า

  • ปวดหัวคลัสเตอร์ การรักษาเมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ได้แก่ ยากลุ่ม Triptan ฉีดทางหลอดเลือดดำหรือพ่นทางจมูก การดม Oxygen 100% และการกระตุ้นเส้นประสาทสมองด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้รักษาไมเกรนได้เช่นกัน แต่อาจพิจารณาเป็นรายๆ ส่วนการป้องกันการกำเริบของ Cluster headache สามารถใช้ยา Verapamil หรือ Lithium ได้ แต่ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อันตราย ควรใช้อย่างระมัดระวัง ยา steroid เช่น prednisolone สามารถใช้ในการลดอาการบวมหรือลดการเป็นซ้ำของ Cluster headache ได้ แต่ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ การทำ Occipital nerve block คือการฉีดยาชาหรือ steroid เพื่อบล็อคเส้นประสาทที่ท้ายทอยก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

 Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

    

 @qns9056c

 อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

 แก้ไขล่าสุด :  30/01/2025

อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com