หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม ระวังเป็นโรคหอบหืด! โรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง และรู้สึกแน่นหน้าอก ความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบเพิ่มขึ้นเมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกำเริบและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับโรคหอบหืด
โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่วนโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกมีการอักเสบ ทำให้มีอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูก ซึ่งทั้งสองโรคเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แต่พยาธิสภาพของโรคจะเกิดคนละตำแหน่งของทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมักสัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืด ทั้งสองโรคจึงมักจะพบได้ร่วมกัน
โรคหืด หรือ โรคหอบหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้ผนังหลอดลมตีบหรือหดตัว อากาศจึงเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจเสียงหวีด, ไอเรื้อรัง, หายใจเหนื่อย และแน่นหน้าอก โดยอาการหอบจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีหลอดลมตีบรุนแรง
ระดับ 1 ความรุนแรงน้อยมาก มีอาการหอบน้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ไม่มีอาการกลางคืน ตรวจสมรรถภาพปอดปกติ
ระดับ 2 ความรุนแรงน้อย มีอาการหอบน้อยกว่า 4-5 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีอาการกลางคืน ตรวจสมรรถภาพปอดปกติ
ระดับ 3 ความรุนแรงปานกลาง มีอาการหอบเกือบทุกวัน มีอาการกลางคืนมากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ระดับ 4 ความรุนแรงมาก มีอาการหอบทุกวัน มีอาการกลางคืนมากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตรวจสมรรถภาพปอดให้ผลผิดปกติ
แนะนำให้ประเมินความรุนแรงของโรคหอบหืดภายหลังได้รับการรักษาด้วยยาควบคุมโรคที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน โดยความรุนแรงของโรคสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลาและการรักษา โดยแบ่งเป็น
อาการรุนแรงน้อย หมายถึง โรคควบคุมได้ด้วยยาพ่นสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำแบบใช้เป็นประจำ (low dose ICS) หรือยาพ่นสูด ICS/ formoterol เมื่อมีอาการกำเริบ
อาการรุนแรงปานกลาง หมายถึง โรคควบคุมด้วยยาพ่นสูดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดต่ำถึงปานกลาง (low to medium-dose ICS / LABA
อาการรุนแรงมาก หมายถึง โรคที่ต้องใช้ยาพ่นสูดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดสูง (high dose ICS /LABA) แล้วยังควบคุมโรคได้ไม่ดี ทั้งที่ใช้ยาถูกต้องและต่อเนื่อง
ในการวินิจฉัยแพทย์จะอาศัยจากการซักประวัติของผู้ป่วย อาการทางคลินิก การตรวจร่างกาย หรือการตรวจสมรรถภาพปอด โดยไม่มีอาการหรือวิธีการทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ให้การวินิจฉัยโรคได้เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้แพทย์จะประเมินร่วมกันจากการตรวจต่างๆตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งอาการของโรคหอบหืดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการตรวจประเมินแต่ละครั้งอาจจะให้ผลที่แตกต่างกันออกไป
|
การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
ยาควบคุมอาการของโรค (Controller) ประกอบด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ ซึ่งลดการอักเสบของหลอดลม ควบคุมอาการโรคหอบหืด ช่วยลดอาการกำเริบเฉียบพลัน เป็นยาควบคุมอาการที่ต้องใช้ทุกวัน
ยาบรรเทาอาการ (Reliever) ประกอบด้วยยาพ่นสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น โดยใช้ยาเมื่อมีอาการกำเริบ หรือที่นิยมเรียกกันว่ายาพ่นฉุกเฉิน
การปรับยาและการจ่ายยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาเองหรือหยุดยาเอง ผู้ป่วยโรคหอบหืดทุกรายควรได้รับยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอและยาบรรเทาอาการเมื่อมีอาการกำเริบ ซึ่งผู้ป่วยควรพ่นยาด้วยวิธีที่ถูกต้องตามที่แพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกรแนะนำ
โรคนี้อาจรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการกำเริบได้ ผู้ป่วยในขณะที่ไม่มีอาการกำเริบสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรพึงระวังปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นอาการให้กำเริบ ซึ่งเป้าหมายในการรักษา ได้แก่
การควบคุมอาการของโรค ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบเหนื่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีการใช้ยาพ่นฉุกเฉิน สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
การป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เช่น การกำเริบของโรค การเสื่อมของสมรรถภาพปอด และอาการข้างเคียงจากการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงฝุ่นในบ้าน ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ฯลฯ
ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้โดยตรง
งดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
หลีกเลี่ยงยาหรืออาหารบางชนิดที่อาจจะทำให้มีอาการกำเริบ เช่น กรณีแพ้อาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆจะช่วยลดอาการหอบหืดได้
ฉีดวัคซีนประจำปี ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ
สรุป
โรคหอบหืดเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด ไอเรื้อรัง และรู้สึกแน่นหน้าอก อาการกำเริบมักเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร การติดเชื้อไวรัส และอากาศเย็น
"การป้องกันและดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอาการของโรค ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รักษาความสะอาดในบ้าน งดสูบบุหรี่ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาพ่นสเตียรอยด์อย่างสม่ำเสมอและมียาบรรเทาอาการฉุกเฉินติดตัวเสมอเพื่อรับมือกับอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้น"
เอกสารอ้างอิง
Ish P,Malhotra N, Gupta N. GINA 2020 (Global Initiative for Asthma)
แนวทางวินิจฉัยและบำบัดโรคหืดในผู้ใหญ่ สำหรับอายุรแพทย์และแพทย์ทั่วไปในประเทศไทย พ.ศ.2566 สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงนลพรรณ พิทักษ์สาลี
แก้ไขล่าสุด : 20/07/2024
อนุญาติให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com