น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการเป็นอย่างไร กี่วันหาย

น้ำในหูไม่เท่ากัน

น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคมีเนียร์ (Meniere’s disease) เป็นสาเหตุโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีการคั่งของน้ำหรือความดันในหูชั้นในที่มากผิดปกติ จากการสร้างน้ำและดูดกลับน้ำในหูชั้นในไม่สมดุลกัน ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก อาจส่งผลให้มีการขัดขวางการทำงานของกระแสประสาททั้งระบบการทรงตัวและระบบการได้ยินผิดปกติได้

หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน



น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร

น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีการสันนิษฐานถึงปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ

  • โรคที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางและหูชั้นใน

  • โรคทางพันธุกรรม

  • การติดเชื้อไวรัส

  • มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

  • มีอาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นโรคภูมิแพ้

  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การสูบบุหรี่

  • และพฤติกรรมการทานอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม

 

"โดยที่อัตราการเกิดโรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุทั้งเพศชายและหญิง โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติของหูข้างใดข้างหนึ่ง แต่บางคนก็มีความผิดปกติของหูทั้งสองข้างได้"  

น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการเป็นอย่างไร

อาการทางหูของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการทางหู

  • มีอาการแน่นหู 

  • หูอื้อเป็นๆ หายๆ มีเสียงดังในหู

  • อาการทนเสียงดังไม่ได้ การได้ยินบางครั้งดีขึ้น

  • หากมีอาการเรื้อรัง การได้ยินอาจจะลดลงหรืออันตรายจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้ 

อาการเวียนหัวที่รุนแรง

อาการเวียนศีรษะรุนแรง

  • อาการบ้านหมุน เวียนหัวบ้านหมุน 

  • สูญเสียการทรงตัว ร่วมกับการสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้มีอาการเดินเซได้

  • มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย โดยอาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นต่อเนื่องนานมากกว่าครึ่งชั่วโมงหรือเป็นวัน มีความรุนแรงจนบางครั้งไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ขาดวิตามินอะไร

จากการศึกษาของทางกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก "ในโรคกลุ่มอาการของผู้ที่มีเสียงในหู​ น้ำในหูไม่เท่ากัน บ่งบอกว่าเป็นอาการของการขาดวิตามินบี" เพื่อมาใช้ในการรักษาหรือในการบำรุงเสริมสร้างเชลล์ประสาทเพื่อให้อาการดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีปัจจุบันจากหลักฐานทางวิชา ไม่พบความสัมพันธ์กับระดับวิตามินบี ในเลือดของผู้ป่วยแต่อย่างใด


หูอื้อ เวียนหัวบ้านหมุน สนใจตรวจสุขภาพคลิกเลย


โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หายเองได้ไหม กี่วันหาย

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ และเนื่องจากยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ต้นเหตุ แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ซึ่งมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

แนวทางการรักษาน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ พบว่าได้ผลร้อยละ 70 - 90 ได้แก่ ยาขยายหลอดเลือด ยาบำรุงประสาท ยาแก้อาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ การรับประทานยาขับปัสสาวะ จะทำให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง จะช่วยให้อาการดีขึ้นหลัง

  • การปฏิบัติตัวและการดูแลร่างกาย ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • การฉีดยา การฉีดยาเข้าไปที่หูชั้นในโดยตรง เพื่อทำลายเซลล์ที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และเมื่อเซลล์ตายอาการดังกล่าวจะหายไป โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดรักษา

  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน จะทำเมื่อให้ยารักษาเต็มที่แล้วยังมีอาการ โดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น

แนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

นั่งพักเมื่อมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดิน นั่งพักและรับประทานยาอาจทำให้ล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ 

  • ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ และถูกต้องตามหลักอนามัย

  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในเวลานอนหลับ หากมีเสียงรบกวนในหูมากก็จะทำให้นอนไม่หลับ แนะนำให้เปิดเพลงอย่างเบาๆ ในขณะนอน เพื่อที่จะกลบเสียงที่รบกวนในหูได้ 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดอาหารเค็ม ควรจำกัดความเค็ม เพราะเกลือโซเดียม จะทำให้มีการคั่งของน้ำในร่างกายและในหูชั้นในมากขึ้น อาจจะทำให้อาการแย่ลงได้

  • ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยทางเรือเพราะทำให้เวียนศีรษะมากขึ้นได้

หลีกเลี่ยงความเครียด เพื่อป้องกันอาการน้ำในหูไม่เท่ากันไม่ให้แย่ลง
  • หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เพราะจะทำให้อาการของโรคแย่ลง 

  • หลีกเลี่ยงภาวะความตึงเครียดหรือกังวล ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ 

  • หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก ๆ

  • ขณะมีอาการเวียนศรีษะควรหลีกเลี่ยงการขับรถ ว่ายน้ำ การปีนป่ายในที่สูง การใช้ของมีคมหรือเครื่องจักร ต้องหยุดทำกิจกรรมทันทีแล้วนั่งหรือนอนพัก เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเสี่ยงอันตรายได้ 


หูอื้อ เวียนหัวบ้านหมุน สนใจตรวจสุขภาพคลิกเลย


ท่านอน สำหรับคนที่มีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

นอนราบกับพื้น เมื่อมีอาการเวียนหัวจากน้ำในหูไม่เท่ากัน

หากมีอาการวิงเวียนศีรษะมาก ควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว และให้นอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้นเล็กน้อย ควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวศีรษะหรือเคลื่อนไหวให้ช้าลง จะช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวบ้านหมุนได้

มีอาการน้ำในหูไม่เท่ากันต้องระวังการหันหน้าเร็วๆ
  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็วๆ

  • การเปลี่ยนแปลงท่าทาง อิริยาบถอย่างรวดเร็ว เช่น การก้ม การเงยคอ หรือหันศรีษะอย่างเต็มแรง


หากน้ำในหูไม่เท่ากัน ควรออกกำลังกายอย่างไร

อาการบ้านหมุน หรือมีอาการเดินเซร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของระบบการทรงตัวของร่างกายอย่าง หูชั้นในหรือสมอง ซึ่งการบำบัดด้วยวิธีการบริหารร่างกายนั้นเป็นการฝึกเพื่อปรับสมดุลของการทรงตัว ทำให้อาการเวียนหัวที่เป็นอยู่บรรเทาอาการลงได้

"ดังนั้น ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน แต่ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม โดยที่สามารถออกกำลังกายเบาๆ ที่พอมีเหงื่อออกได้บ้าง แต่หากมีอาการผิดปกติในระหว่างนั้น ควรจะหยุดทันที"  

กิจกรรมการออกกำลังกาย เล่นกีฬาเบาๆ ที่ชอบ เช่น  การโยนลูกบอลไป-กลับ การเลี้ยงลูกบาส การฝึกทำโยคะ เป็นการฝึกควบคุมลมหายใจ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ถ้าฝึกเป็นประจำก็จะช่วยให้การเคลื่อนที่ของของเหลวในหูชั้นในและสามารถกระตุ้นอวัยวะรับความรู้สึกในหูชั้นใน ให้ทำงานได้ดีขึ้น


ถึงแม้น้ำในหูไม่เท่ากัน จะไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด แต่อาการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยาและมีแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง กรณีที่เป็นไม่มาก ใช้ยากินเพื่อควบคุมอาการได้ สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติได้ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัย สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ และเพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


บทความที่น่าสนใจ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

สนใจทักแชท

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เรียบเรียงโดย พญ.สุพิชชา บึงจันทร์
  แก้ไขล่าสุด : 14/02/2024

free website counter
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้