ยาลดไขมัน เป็นยาที่มีประโยชน์ในการลดระดับไขมันในหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอันตรายต่างๆมากมากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ จัดเป็นกลุ่มยาที่มีงานวิจัยรองรับมากที่สุดในโลก เนื่องจากในปัจจุบันนิสัยในการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการพบไขมันสะสมในหลอดเลือดสูงขึ้น ไม่เว้นแม่แต่ในคนที่อายุน้อย หรือคนที่ไม่ได้มีน้ำหนักตัวมาก ก็ยังสามารถตรวจพบระดับไขมันในหลอดเลือดสูงได้เช่นกัน
หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับยาลดไขมัน
วันนี้เรามาทำความรู้จักยาลดไขมัน กันดีกว่าว่ามีวิธีการรับประทานทาน ผลข้างเคียงที่ต้องทราบ ระยะเวลาการรับประทาน และเปรียบเทียบถึงประโยชน์หรือผลข้างเคียง ว่าควรเริ่มรับประทานยาลดไขมันหรือไม่ครับ
หากอยากทราบว่าค่าไขมันสูงเท่าไหร่ต้องทานยาลดไขมัน ต้องเริ่มจากการเช็คตนเองก่อนว่าตัวของเราจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยใช้ Thai CV risk score ( ทุกคนสามารถ search คำนี้ใน google แล้วลองคำนวณความเสี่ยงตัวเองดูได้ มีค่าคำนวณความเสี่ยงโดยไม่เจาะเลือด เพื่อประเมิณเบื้องต้นด้วย )
เมื่อพิจารณาจาก ตัวแปร ที่เราต้องใส่ไปในการคำนวณจาก Thai CV risk score จะเห็นได้ว่า ตัวแปรที่ต้องใส่จะมี อายุ เพศ ความดันโลหิต พฤติกรรมการสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน และรอบเอว เพียงเท่านี้ก็พอจะคาดเดาได้แล้วว่า ปัจจัยไหนที่ทำให้เราเสี่ยงบ้าง โดย Thai CV risk score นั้นคือ “แบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปี สำหรับคนไทย” โดยแบ่งเป็น
Low risk : เสี่ยงน้อยกว่า 5% หมายถึง หากตัวเราคำนวณผลออกมาแล้วอยู่ในกลุ่มนี้ แปลว่า ในระยะเวลา 10 ปี ข้างหน้า เราก็มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 5% โดยคนไข้กลุ่มนี้ อาจยังไม่ต้องเริ่มยาในการพบแพทย์ครั้งแรก แม้ค่าไขมันจะสูงก็ตาม จะเป็นการให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการใช่ชีวิต ( การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น )
Borderline risk : เสี่ยงตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 7.5%
Intermediate risk : เสี่ยงตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 20%
High risk : เสี่ยงตั้งแต่ 20% ขึ้นไป
เมื่อประเมิณความเสี่ยงดังข้างต้น และทราบว่าตัวคุณเองอยู่ในกลุ่มไหน แพทย์ก็จะนำมาประกอบการตัดสินใจในการเริ่มรักษาและจ่ายยาลดไขมัน โดยมีเป้าหมายในการลดไขมัน แตกต่างกันไป
ดังนั้นหากคุณเคยไปรับตรวจไขมันในเลือด หรือตรวจวัดค่าไขมันออกมาแล้วพบว่า ค่าไขมันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่า Cholesterol, Triglyceride , LDL , HDL นั้นสูงกว่าค่าที่อ้างอิงในใบแล็บ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเริ่มรับประทานยาลดไขมันในทันที แพทย์อาจจะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย แล้วนัดมาดูค่าไขมันใหม่ในนัดหมายถัดไปเพื่อพิจารณาการจ่ายยาอีกครั้ง ซึ่งในแง่ของ ตัวเลขค่าไขมันสูงเท่าไรต้องกินยานั้น แพทย์แต่ละท่านจะทำการพิจารณาไปเป็น case by case
สิ่งสำคัญคือการที่คนไข้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีไขมันในเลือดสูง แล้วเกิดพฤติกรรมป้องกัน หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต สิ่งนี้คือส่วนสำคัญในการลดไขมันในเลือด และทำให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ผลของการศึกษาเกี่ยวกับสแตติน ในช่วงแรกหลังการมาของยาลดไขมันกลุ่มสแตติน Statins ชื่อว่า The Scandinavian Simvastatin Survival Study ( 4S ) ในตัวงานวิจัยมีการสรุปได้ว่า คนไข้ที่ทานยาลดไขมัน simvastatin 20-40 mg. ต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากหลายๆปัจจัยลดลงถึง 30% เทียบกับคนไม่ได้ทาน หลังจากนั้น หลายๆงานวิจัยที่เกิดขึ้นตามมารวมถึงปัจจุบัน ก็เป็นไปในทิศทางบวกว่า การทานยาลดไขมันในเลือด นั้นมีประโยชน์กว่าไม่ทาน จริงๆ
ร่างกายของคนเรานั้นมีจะการสังเคราะห์ไขมันมากในช่วงเวลาตอนกลางคืน ดังนั้นในอดีต จะแนะนำทานยาลดไขมันในเลือด เป็นตอนเย็นหรือก่อนนอน เพื่อลดการสังเคราะห์ไขมันที่จะเกิดขึ้นในตอนกลางคืน แต่ปัจจุบันนี้ยา statins ในท้องตลาด ได้พัฒนาขึ้นไปมาก ทำให้ออกฤทธิ์นานขึ้น จนมีงานวิจัยนำมาเปรียบเทียบว่า หากนำยามาทานช่วงเช้าพร้อมยาตัวอื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้จะต่างกันหรือไม่
สรุปคือได้ผลที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญทางสถิติ กล่าวก็คือ ยาลดไขมันในเลือดสามารถทานตอนเช้าได้ หากคนไข้มีแนวโน้มที่จะลืมทานน้อยกว่า เพราะประโยชน์จะเกิดสูงสุดคือการรับประทานยาทุกวัน เพื่อลดหรือควบคุมไขมันอย่างต่อเนื่อง
ยาทุกตัวนั้นสามารถหยุดทานได้ หากตัวของคนไข้เองสามารถทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง แต่จากตัวแปรดังที่กล่าวไว้ข้างของต้นบทความ มีในส่วนของ " อายุ " เข้ามาเป็นอีกหนึ่งในตัวแปรด้วย เมื่อคนเรามีอายุเพิ่มขึ้น แม้เราจะควบคุมการรับประทานอาหาร ( ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยากที่จะเลี่ยงอาหารที่มีไขมันในทุกๆมื้อติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ) ก็ยังมีความเสี่ยงจากความเสื่อมสภาพของร่างกายและหลอดเลือด
ซึ่งมีงานวิจัยบทหนึ่งระบุว่า ในกลุ่มคนไข้ที่รับประทานยาลดไขมัน ตั้งแต่อายุ 50 ปี แล้วไปหยุดรับประทานยาลดไขมันในเลือด ตอนอายุ 80 ปี เปรียบเทียบกับ กลุ่มคนไข้ที่ยังคงทานยาไขมันต่อเนื่อง พบว่ากลุ่มที่หยุดยาจะเสียผลประโยชน์ในระยะยาวของยาลดไขมันไปมากกว่า 70% ดังนั้นการเลือกรับประทานยาลดไขมันต่อเนื่อง ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ต่อคนไข้มากกว่าทานแล้วหยุดนั่นเอง
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและงานวิจัยที่รองรับมากมาย การรับประทานยาลดไขมัน เมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มีประโยชน์อย่างมาก ในการป้องกันโรคร้ายแรงในอนาคต ตัวยาเองนั้นมีผลข้างเคียงเรื่องการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งจัดเป็นผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย (อาจเรียนได้ว่าเป็นอาการข้างเคียงที่ก่อให้เกิดเพียงความรำคาญ แต่ไม่ก่อให้เกิดโทษ)
รวมถึงเมื่อคนไข้รับยาโดยแพทย์ จะมีการตรวจสอบยาทานร่วมอื่นๆ ตรวจติดตามค่าไขมัน ว่าลดได้ตามเป้าหมายการรักษาหรือไม่ หากยังไม่สามารถลดระดับไขมันได้ตามเป้า ก็ยังมีระดับยาลดไขมันที่มีความสามารถสูงอีกหลายตัวในการใช้รักษา เนื่องจากเป็นยาที่ได้รับการใช้แพร่หลาย งานวิจัยและการพัฒนายาก็เลยเยอะมากตามไปด้วย ทำให้จัดเป็นยาที่มีประโยชน์ ปลอดภัย และอัพเดทอยู่เสมอครับ
บทความที่น่าสนใจ
ตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile) ไขมันในเลือดสูง ความเสี่ยงที่คุณเลี่ยงได้
วิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
เอกสารอ้างอิง
Can you Stop Taking Statins Once You Start?, UnityPoint Health
Mechanisms of Statin-Induced Myopathy, M. John Chapman and Alain Carrie
2023 ESC Guidelines for the management of cardiovascular disease, escardio
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
เรียบเรียงโดย นายแพทย์พันไมล์ ปรมัษเฐียร
แก้ไขล่าสุด : 18/01/2024