ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) อาการและการรักษา

ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) อาการและการรักษา

ไข้หวัดธรรมดา อาการป่วยที่พบบ่อยในทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว และเป็นอาการที่พบบ่อยในคลินิก โดยผู้ป่วยมักมาด้วยอาการ ไอ จาม น้ำมูกไหล หรืออาการไข้

ถึงแม้ว่าการเป็นหวัดจะดูเป็นอาการป่วยธรรมดา ๆ แต่ก็สามารถมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ซึ่งมักพบในกรณีที่เป็นซ้ำหลังจากที่เพิ่งหายดี รู้จักโรคหวัดให้มากขึ้นในบทความนี้ 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดธรรมดา

สาเหตุของโรคหวัด

ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากอะไร

ไข้หวัดธรรมดา หรือโรคหวัด (Common cold) คือ อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน สามารถหายเองได้

เชื้อไวรัสส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดา จะไม่ได้ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว อีกทั้งไวรัสยังมีหลากหลายชนิด (Serotype) จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถติดหรือเป็นซ้ำได้บ่อยนั่นเอง

อาการของไข้หวัด

เบื้องต้นสามารถสังเกตุจากอาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้, มีน้ำมูกไหล, คัดจมูก, เจ็บคอ, ระคายคอ, จาม และไอ โดยอาการมักรุนแรงขึ้นใน 3 วันแรก และทุเลาลงในวันที่ 4-7 วัน แต่อาการไอและมีน้ำมูกอาจอยู่ได้ถึง 10-14 วัน จากนั้นจะหายเอง

ในช่วงแรกน้ำมูกจะใสเหลว เนื่องจากเป็นสารที่ร่างการหลังเพื่อกำจัดเชื่อโรคในโพรงจมูกและไซนัส หลังจากนั้นเมื่อเม็ดเลือดขาวทำการกำจัดไวรัสจะส่งผลให้น้ำมูกข้นขึ้นหรือเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นหรือเขียวได้

มีอาการของโรตหวัดพบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์

อาการที่แพทย์เคยพบ

อาการของคนไข้ที่พบบ่อยจะเป็นอาการมีน้ำมูก เจ็บคอ และไอ โดยในเด็กจะพบว่ามีอาการไข้ได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หรือมีเสียงวี๊ดเป็นสิ่งที่บ่งบอกการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ให้รีบพบแพทย์ ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก หากกินได้น้อย ซึมลง บ่งบอกถึงถาวะขาดน้ำให้รีบพบแพทย์เช่นกัน

 - แพทย์หญิงนารดา พิรัชวิสุทธิ์ แพทย์ประจำอินทัชเมดิแคร์คลินิก -


อ่านบทความ: อาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร? 


เป็นหวัดเป็นกี่วันหาย

โดยมากจะหายภายใน 7 วันในผู้ใหญ่ และ 10-14 วันในเด็ก โดยอาการมักรุนแรงขึ้นใน 3 วันแรก และทุเลาลงในวันที่ 4-7 วัน แต่อาการไอและมีน้ำมูกอาจอยู่ได้ถึง 10-14 วัน จากนั้นจะหายเอง


อาการแทรกซ้อนของโรคหวัด

แม้ว่าอาการของหวัดโดยปกติจะหายภายใน 7 วันในผู้ใหญ่ และ 10-14 วันในเด็ก แต่หากมีอาการไข้รอบใหม่ จะเป็นหวัดนานกว่า 10 วัน หรือมีอาการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหวัด เช่น

หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบ

เนื่องจากท่อปรับความดันในหูชั้นกลาง (Eustachian tube) เชื่อมกับโพรงจมูก หากเยื่อโพรงจมูกบวม อาจทำให้ท่อนี้ตัน เป็นผลให้หูชั้นกลางอักเสบได้

มักเกิดในเด็กเล็ก เนื่องจากท่อปรับความดันมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการติดเชื้อมากกว่า

โพรงจมูกและไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

โพรงจมูกและไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียตามหลังการเป็นหวัดธรรมดา โดยอาการคือ เป็นหวัดมากกว่า 10 วัน มีไข้รอบใหม่

น้ำมูกมีลักษณะเป็นหนอง มีกลิ่น ปวดบริเวณโหนกแก้ม หรือหัวคิ้ว

ปอดอักเสบ

ปอดอักเสบ

พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อที่ลามไปบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่าง

อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้ อาการคือ หอบเหนื่อย ไอมากขึ้น ในเด็กเล็กอาจมีหายใจแรง อกบุ๋ม ปีกจมูกบาน

เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหลเป็นอาการแทรกซ้อนที่สามารถเกิดได้ เนื่องจากการสั่งน้ำมูก หรือเช็ดจมูกเป็นเวลาหลายวัน

ส่งผลทำให้เส้นเลือดฝอยแตก เยื่อบุในจมูกบวมแดงและแห้ง จึงมีอาการของเลือดกำเดาไหลได้

พบแพทย์ ที่อินทัชเมดิแคร์ 

ไข้หวัดติดต่อได้อย่างไร

ไข้หวัดสามารถติดต่อโดยที่เชื้อไวรัสทำการแพร่ผ่านทางละอองน้ำลาย น้ำมูก เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม ละอองฝอยนี้แพร่ไปยังผู้อื่นผ่านการสูดดมหรือละอองฝอยเหล่านี้อาจไปตกบริเวณพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เมื่อผู้อื่นสัมผัสแล้วนำมือมาสัมผัสบริเวณจมูก ตา ปากก็จะทำให้ติดได้เช่นกัน


การป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดหวัด

สวมหน้ากากอนามัย

สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อออกไปข้างนอก หรือต้องพบปะกับผู้อื่น และเพื่อสุขลักษณะที่ดีควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อเปียกชื้น หรือสกปรก หลังจากใช้แล้ว ควรทิ้งหน้ากากอนามัยในถังขยะที่มีฝาปิด

ปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจาม

ปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจาม ใช้กระดาษทิชชูหรือบริเวณต้นแขนในการปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และป้องกันตนเองจากการรับเชื้ออื่นๆเพิ่มเติม

ใช้กระดาษทิชชูเมื่อทำการสั่งน้ำมูก

ใช้กระดาษทิชชูเมื่อทำการสั่งน้ำมูก และหลังจากใช้ทิชชูแล้วควรทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดทันที การสั่งน้ำมูกใส่มือเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขอนามัยและการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

ล้างมือให้สะอาด

ล้างมือให้สะอาดหลังจากไอ/จาม หรือหลังจับต้องสิ่งของที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโดยผู้ที่ใช้ก่อนหน้าเรา แล้วเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู

การล้างมือแนะนำให้ล้างด้วยสบู่และน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์ (ควรล้างด้วยสบู่และน้ำมากกว่า) ควรล้างมืออย่างน้อย 20 วินาทีและให้แน่ใจว่าทั่วทุกส่วน

หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น

หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ การทักทายโดยการจุมพิต หรือกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่อาจต้องสัมผัสกับผู้อื่น เพราะบางครั้งที่มือของเราอาจมีละอองของเชื้อ ที่เกิดจากการไอ จาม ปนเปื้อนอยู่

กินอาหารโดยใช้ช้อนกลาง

กินอาหารโดยใช้ช้อนกลาง ไม่ดื่มน้ำร่วมกับผู้ที่เป็นหวัด ก่อนและหลังรับประทานอาหาร ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ และห้ามใช้ช้อนกลางตักอาหารเข้าปากโดยตรง

วิธีการรักษา

การรักษาไข้หวัดธรรมดาไม่จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากเกิดจากไวรัสไม่ใช่แบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อไม่ได้ทำให้หวัดหายเร็วขึ้น หากได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา เช่น ถ่ายเหลว, การแพ้ยา และเสี่ยงเชื้อดื้อยาในอนาคต

อาการส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ยาส่วนใหญ่จะเป็นการบรรเทาอาการ ในกรณีที่เป็นหวัดจากเชื้อ COVID-19 หรือไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไวรัสอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการและระยะเวลาในการเป็น

สิ่งที่ช่วยให้อาการหวัดดีขึ้นคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำมากๆ, ในเด็กเล็กแนะนำให้ใช้ลูกยางดูดน้ำมูกหรือใช้น้ำเกลือล้างจมูก, ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 ปี น้ำผึ้งสามารถช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอได้ 

ประสบการณ์การรักษาโรคหวัดของแพทย์

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นหวัดธรรมดาแล้วซื้อยากินตั้งแต่ช่วง 1-2 วันแรกมักมาด้วยว่าอาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 3 ซึ่งเป็นปกติของหวัดที่จะแย่ลงในวันที่ 3 แล้วค่อยๆดีขึ้นในวันที่ 4-5 หากไม่ได้มีอาการอื่นที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรอดูอาการก่อนได้ 

โดยหากกินยาแล้วยังมีอาการ อาจพิจารณาใช้ยาเฉพาะที่ (Local) เช่น ยาพ่นแก้อักเสบที่พ่นบริเวณลำคอโดยตรง หรือยาหยดจมูกลดน้ำมูก

แพทย์หญิงนารดา พิรัชวิสุทธิ์ แพทย์ประจำอินทัชเมดิแคร์คลินิก -

อาการแบบใดควรมาพบแพทย์

  • หายใจเหนื่อย, หายใจเร็ว และอกบุ๋ม (Pectus Excavatum) ในเด็ก

  • กินไม่ได้ รู้สึกเพลียมาก

  • เป็นไข้นานมากกว่า 4 วัน

  • มีอาการของโรคหวัดนานมากกว่า 10 วัน โดยที่ไม่ดีขึ้น

  • กลับมามีอาการแย่ลงใหม่ เช่น มีไข้รอบใหม่ หรือไอมากขึ้น

  • มีอาการปวดหู เจ็บบริเวณโหนกแก้มหรือใบหน้า

พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์


บทความที่น่าสนใจ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

   Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

สนใจทักแชท

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม


เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงนารดา พิรัชวิสุทธิ์
  แก้ไขล่าสุด : 15/10/2024
  อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com

website counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้