การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

Last updated: 23 เม.ย 2567  |  14573 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

        โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคที่มักนำมาซึ่งโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ ที่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมก็อาจสร้างอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลจึงควรต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันโรคนี้ รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมพร้อมๆ ไปกับการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องในเบื้องต้น เพื่อควบคุมอาการไม่ให้ลุกลาม โดยในบทความนี้เรามีวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานมาฝากกัน


วางแผนควบคุมอาหาร

 

1. การเคร่งครัดในการควบคุมอาหารที่รับประทาน

        ข้อแรกเลยในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานก็คือเรื่องของอาหารการกินที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะส่งผลกับสุขภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งหลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้งผัก แป้ง เนื้อสัตว์ และควรงดของหวาน ของมันหรือพวกผลไม้แช่อิ่ม เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม และงดกินจุบกินจิบ แต่เน้นกินให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งกินให้ตรงเวลาด้วย


ควบคุมน้ำหนักตัว

 

2. พยายามควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

        ข้อนี้ถือเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่โรคเบาหวานเท่านั้น แต่ความอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยหากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจะยิ่งทำให้อาการลุกลามจนยากที่จะควบคุม ทั้งนี้หากตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานเบื้องต้นควรลดน้ำหนักลง 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเดิม


หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์

 

3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์

        การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ข้อต่อมาคือควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่ยาดองต่างๆ ด้วย เนื่องจากอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน รวมถึงยาอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้อาจส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนในระบบเส้นประสาทของผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกด้วย ทางที่ดีลด ละ เลิก เพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อคนที่คุณรักดีกว่า


ดูแลรักษาเท้า

 

4. ควรหมั่นดูแลรักษาเท้าให้ดี

        ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาเท้าให้ดีเนื่องจากมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงไปในระดับที่เรียกว่าเบาหวานลงเท้า ซึ่งอาการนี้จะทำให้เกิดแผลเรื้อรังจนอาจถึงขั้นต้องตัดเท้าหรือตัดขาทิ้งเลยทีเดียว โดยควรทำความสะอาดเท้าและเล็บเท้ารวมถึงซอกมุมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการแกะ เกา ที่อาจทำให้เกิดแผล และหากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที


ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

 

5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

       ทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่ โดยจากการศึกษาพบว่าช่วยลดอัตราการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตลงได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปยังควรที่จะฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบร่วมด้วย


ควบคุมความดันโลหิต

 

6. การควบคุมความดันโลหิต

        หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่าเบาหวานกับความดันนั้นมักจะมาคู่กัน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่อาจลุกลามแพทย์แนะนำว่าควรดูแลความดันโลหิตไม่ให้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และหากมีภาวะความดันโลหิตสูงควรทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและเป็นยาตามใบสั่งเท่านั้น


กินยาควบคุมระดับไขมันในเลือด

 

7. ควบคุมระดับไขมันในเลือด

       อีกเรื่องสำคัญในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานก็คือควรต้องควบคุมระดับไขมันในเลือด โดยให้ระดับไขมัน LDL หรือไขมันเลว มีค่าต่ำกว่า 100 มก./ดล.และสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แพทย์จะทำการจ่ายยาลดไขมันให้ตามความเหมาะสมเพื่อรักษาระดับไขมันในเลือด ทั้งนี้ระดับไขมันในเลือกที่ผิดปกติอาจส่งผลให้เส้นเลือดแดงใหญ่เกิดการตีบตันได้


เตรียมยาประจำตัว

 

8. เรียนรู้การปฏิบัติตัวในโอกาสพิเศษต่างๆ

          จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น อาจสูญเสียความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตไปพอสมควร แม้แต่การปฏิบัติตัวในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่นงานเลี้ยง หรือการเดินทางก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อไม่ให้อาการของโรครุนแรงหรือลุกลาม ด้วยการเตรียมยาประจำตัวไปด้วยทุกครั้งและกินให้ตรงเวลา งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด จะช่วยให้อาการไม่รุนแรงหรือดีขึ้นหากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ


การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

9. เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน

        ข้อสุดท้ายในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงเท้า ภาวะแทรกซ้อนทางไต ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือด ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบประสาท เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะและชีวิตทั้งสิ้น โดยควรมีการตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา


       ทั้งหมดนี้คือการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในเบื้องต้นที่จะช่วยควบคุมอาการให้ไม่รุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนถึงชีวิตตามมา ลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการคำปรึกษาหรือรับการรักษาอย่างถูกต้องที่อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรมของเรามีบริการแพทย์ประจำตัวรักษาโรคเบาหวานและโรคความดัน รวมถึงบริการเยี่ยมบ้านเพื่อความสะดวกสบายของญาติและผู้ป่วย ท่านที่สนใจสามารถใช้บริการได้จากทุกสาขาใกล้บ้าน เพียงค้นหาคลินิกใกล้ฉัน ใน Google เลือกอินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม หรือสอบถามผ่านช่องทางการติดต่อบนหน้าเว็บไซต์ของเราได้เลยค่ะ 

 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
   Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
  สนใจทักแชท   
  @qns9056c
  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้