เจาะต่อมไทรอยด์หรือการเจาะตรวจเนื้อที่ก้อนต่อมไทรอยด์เพื่อการตรวจวินิจฉัยไทรอยด์ให้ทราบถึงพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์เพื่อประเมินความเสี่ยงเป็นโรคบางชนิด ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ การเจาะตรวจเนื้อต่อมไทรอยด์ มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นานและไม่ได้เจ็บปวดมาก ไปดูกันเลยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง
วิธีการเจาะตรวจเนื้อที่ก้อนต่อมไทรอยด์
แพทย์จะทำการประเมินอาการจากการซักประวัติคนไข้ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดโดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจการทำงานของไทรอยด์
คนไข้ที่จะทำการเจาะต่อมไทรอยด์ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนถึงยาที่รับประทานอยู่ จำพวกยาที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น แอสไพริน (Aspirin หรือ ASA บางคนเรียก ยาต้านเกล็ดเลือด) ยากันเลือดแข็งตัว หรือวาร์ฟาริน (Warfarin) เพราะอาจจะต้องมีการให้หยุดใช้ยาดังกล่าวในช่วงที่ทำการตรวจรักษา
สอบถามประวัติการแพ้ยา หากคนไข้แพ้ยาชาหรือแพ้ยาอื่นๆ แพ้อาหารหรือสารเคมีต่างๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนทุกครั้ง
การนอนเพื่อเตรียมเจาะต่อมไทรอยด์คือให้คนไข้นอนราบบนเตียงและใช้หมอนรองตรงบริเวณคอให้คอแอ่นขึ้นเพื่อให้มองเห็นก้อนได้ชัด ควรแจ้งแพทย์เพื่อปรับท่าทางการนอนให้เหมาะสมหากปวดตันคอหรือมีโรคเกี่ยวกับกระดูกคอ
กรณีเห็นไม่ชัดจากการคลำเนื่องจากเป็นก้อนขนาดเล็ก อาจต้องใช้เครื่องอัลตราชาวด์ช่วยเพื่อหาตำแหน่งของก้อนให้แม่นยำขึ้น เป็นการตรวจที่ไม่ทำให้เจ็บปวด จะคล้ายกับการตรวจอัลตร้าชาวด์ในหญิงตั้งครรภ์ อาจรู้สึกเย็นเล็กน้อยจากเจลที่ใช้ทาเวลาตรวจ
แพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังก่อนเจาะต่อมไทรอยด์และรอประมาณ 3 - 5 นาทีให้ยาชาออกฤทธิ์
แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กกว่าเข็มเจาะเลือด เจาะเอาชิ้นเนื้อที่ก้อนต่อมไทรอยด์ประมาณ 4 รอบ เพื่อให้ได้เนื้อเยื่อที่เพียงพอและอ่านผลได้แม่นยำ คนไข้อาจมีความรู้สึกเล็กน้อยตอนที่เข็มจิ้มลงไปแต่จะไม่มีอาการเจ็บ
ห้ามพูดหรือกลืนน้ำลายระหว่างแพย์ทำการเจาะเอาชิ้นเนื้อเพราะทำให้ตำแหน่งก้อนที่ต่อมไทรอยด์เคลื่อนที่ สามารถยกมือบอกแพทย์ได้เมื่อเจ็บหรือรู้สึกไม่สบาย ระหว่างทำการเจาะแต่ละรอบจะมีช่วงเวลาพัก สามารถกลืนน้ำลายได้ตามปกติ
เมื่อทำการเจาะต่อมไทรอยด์เสร็จแพทย์จะใช้พลาสเตอร์ยาปิดที่แผล ให้คนไข้เอามือกดไว้อย่างน้อย 5 นาที เหมือนเวลาถูกเจาะเลือด เมื่อถึงบ้านแล้วก็เอาพลาสเตอร์ยาออกได้ สามารถโดนน้ำได้ทำกิจวัตรได้ตามปกติ ถ้าคนไข้มีอาการเจ็บหรือปวดร้าวไปที่หู ให้รับประทานยาลดปวดพาราเซตามอล (paracetamol หรือ acetaminophen)
ถ้ามีอาการบวมขึ้นเร็วหรือมีอาการอึดอัด อาจมีอาการเลือดออกบริเวณก้อน ให้รีบมาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีเพราะอาจมีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ ภาวะแทรกช้อนนี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่เป็นอันตราย และต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน
สามารถอ่านผลและให้การวินิจฉัยโรคไทรอยด์ได้แม่นยำเนื้อเยื่อที่ได้จากการเจาะตรวจ แม้ได้มาเพียงเล็กน้อย แต่พยาธิแพทย์สามารถอ่านผลและให้การวินิจฉัยได้แม่นยำ
บทความที่น่าสนใจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
เรียบเรียงโดย อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 29/08/2023