ข้อควรรู้ก่อนการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี

อินทัชเมดิแคร์ คลินิกเวชกรรม


1. ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี

การติดเชื้อเอชไอวี (HN) เกิดได้ 3 ทางคือ

1.1. ทางเพศสัมพันธ์

1.2. ทางเลือด เช่น ได้รับเลือดของคนที่เป็นโรค หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนที่เป็นโรค

1.3. จากแม่ไปสู่ลูกในขณะท้อง ตอนคลอด หรือจากการกินนมแม่

       อาการของโรคติดเชื้อเอชไอวีในระยะต้น อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ซึ่งผู้ที่เป็นโรคอาจไม่รู้สึกผิดปกติเลย ต่อมาจึงเริ่มมีอาการแสดงออกมากขึ้น เช่น เป็นเชื้อราในปาก เป็นงูสวัด ท้องเสียบ่อยๆ น้ำหนักลดและในที่สุดจะมีอาการโรคเอดส์ เช่น เชื้อราขึ้นสมอง ปอดอักเสบรุนแรง เป็นมะเร็ง สมองเสื่อม ซึ่งอาการตั้งแต่ระยะต้นจนถึงระยะเป็นเอดส์ อาจใช้เวลานานหลายปี ผู้ที่มีอาการในขั้นสุดท้ายหากไม่ได้รับการรักษามักจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี

2. การตรวจการติดเชื้อเอชไอวี

     วิธีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีที่นิยมมากที่สุด คือ การตรวจเลือด หากผลเลือดเป็นบวก แปลว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี หากผลเลือดเป็นลบ แปลว่าตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีผลการตรวจเลือดเป็นบวกไม่ได้แปลว่าจะต้องมีอาการเสมอไป เพราะบางครั้งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการป่วยขึ้นมา ผลการตรวจเลือดเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อเอชไอวีเสมอไป เพราะบางครั้งเพิ่งได้รับเชื้อมาไม่นานในช่วง 1-2 เดือนแรก เลือดจะยังเป็นลบอยู่ ต่อมาจึงกลายเป็นบวก ดังนั้นหากได้รับผลเลือดเป็นลบและมีเหตุควรสงสัย ควรจะตรวจซ้ำอีก 3-6 เดือนต่อมา ถ้าผลเป็นลบอีกจึงจะแน่ใจว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี

3. ทำไมควรตรวจการติดเชื้อเอชไอวี

     การรู้ว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ มีประโยชน์หลายอย่างเช่น จะได้ป้องกันคนที่รัก เช่น สามี ภรรยา ลูกที่จะเกิดมา ไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีตาม และจะได้ดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง และกินยาต้านเอดส์, ยา pep อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกาย จะได้มีชีวิตยืนยาวอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพดีเหมือนคนทั่วไป ในขณะนี้ภาครัฐได้จัดสรรยาต้านไวรัสให้แก่ผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ต้องมีภาระในการรักษาตน

4. ผลกระทบจากการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี

     ถ้าได้ผลออกมาเป็นบวก บางคนอาจรับสภาพไม่ได้ หรือไม่ทราบว่ามีการรักษาฟรีที่มีสามารถทำให้แข็งแรงเป็นปกติ อาจคิดสั้น หมดหวังในชีวิต อาจทำให้ที่ทำงานเลิกจ้าง บริษัทประกันบางแห่งอาจไม่รับประกันถ้าไม่บอกผลตรวจเอชไอวี หรือถ้าได้ผลบวก แม้แต่ในรายที่ได้ผลออกมาเป็นลบ ก็อาจสร้างปัญหาได้เช่น กรณีที่ได้รับเชื้อมาภายใน 1-2 เดือนอาจตรวจเลือดแล้วเป็นลบ จึงไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองหรือคนอื่น โดยไม่มีการป้องกันทำให้แพร่เชื้อออกไปก่อนที่จะรู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้ออยู่

5. สิทธิของผู้รับการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้รับการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมผู้รับการตรวจควรทราบถึงสิทธิก่อนรับการตรวจเอชไอวี ดังนี้

5.1. เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งในการตรวจเอชไอวีทุกครั้ง แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จะต้องอธิบายการตรวจ การแปลผล และผลกระทบให้แก่ผู้รับการตรวจจนเป็นที่เข้าใจ

5.2. ผู้รับการตรวจมีสิทธิชักถามเกี่ยวกับขั้นตอนและผลการตรวจ โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะต้องตอบคำถาม และให้คำแนะนำจบเข้าใจ

5.3. ผลการตรวจเอชไอวีเป็นความสับระหว่างแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้รับการตรวจเท่านั้น ซึ่งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจะต้องรักษาความลับของผู้รับการตรวจอย่างเคร่งครัดการแจ้งผลต่อผู้อื่น แพทย์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับการตรวจทราบผลการตรวจแล้วหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

5.4. ผู้รับการตรวจควรทราบว่า หากไม่ตรวจ ณ สถานที่แห่งนั้น จะสามารถไปตรวจที่ใดก็ได้ตามสิทธิการรักษาที่มีอยู่ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ให้สิทธิในการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายปีละ 2 ครั้ง หรืออาจมีทางเลือกอื่นๆ เช่น ไปขอรับการตรวจที่คลินิกนิรนาม ซึ่งให้บริการตรวจโดยไม่ต้องแจ้งชื่อ

 

อ้างอิง : มติคณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 9/2557 
  แก้ไขล่าสุด : 11/08/2023 

website view counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้