การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรคและการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่บ้านสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน และเป็นส่วนที่สำคัญเพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ โดยต้องใช้เวลานานพอสมควรบวกกับความมีวินัย กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
ระยะวัณโรคที่ตรวจเจอไม่ว่าระยะไหนมีโอกาสสูงในการรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและญาติจึงควรให้ความสำคัญส่วนนี้อย่างมาก
ข้อปฏิบัติที่ควรรู้
ให้ผู้ป่วยวัณโรคกินยาต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ต้องกินยาทุกชนิด ทุกเม็ด ตามขนาดที่แพทย์สั่ง และควรจดบันทึกการกินยาและอาการข้างเคียงไว้ด้วยทุกวัน
การไม่กินยาทุกวันจะส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยา ทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จ เวลาในการรักษาก็จะนานขึ้นไปอีก ซึ่งการกินยารักษาวัณโรคผู้ป่วยจะต้องใช้ความอดทนและใช้เวลาเป็นอย่างมาก
การกินยาอื่นเพิ่มจากยารักษาวัณโรค ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่าซื้อยาเอง!
ผู้ป่วยวัณโรคต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ถึงแม้ว่ายาที่กินจะยังไม่หมด ก็ต้องมาพบแพทย์ และสามารถมาพบแพทย์ก่อนเวลานัดเพื่อรับยาได้ หากวันที่นัดไม่สะดวก
มีอาการข้างเคียงมาก ควรพบหมอทันที เช่น คลื่นไส้ อาเจียนมาก ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย ลุกเดินไม่ไหว ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากกินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น เช่น มีผื่นทั่วตัว มีไข้ มีแผลในช่องปาก โดยนำสมุดบันทึกที่จดอาการข้างเคียงประจำวันไปด้วย
เพื่อให้การรักษาวัณโรคประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ เลิกสูบบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิด เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสุขภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะทำให้กรดในกระเพาะหลั่งมากขึ้น
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรค ข้อนี้ทำได้ง่ายมากคือการสวมหน้ากากอนามัย ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันละอองเสมหะฟุ้งกระจายไม่ให้ชื้อแพร่กระจายไปสู้ผู้อื่น
หากนั่งรถสาธารณะ เช่น รถตู้ รถบัส หรืออยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมาก เช่น วัด ตลาด ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
บ้วนเสมหะ น้ำลาย ลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดแล้วเทลงในส้วม หรือขากเสมหะใส่ถุงพลาสติก โดยใส่น้ำยาล้างจานหรือน้ำผสมผงซักฟอกไว้ก็สามารถทำได้ แล้วทำลายโดยการฝังดิน หรือนำไปเผา หรือทำลายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาไลโซล ที่มีความเข้มข้น 2% ใส่ในกระโถนเสมหะแช่ทิ้งไว้ 6-12 ชม. จึงเททิ้ง
ไม่ควรขากเสมหะลงพื้น ไม่ขากเสมหะในห้องน้ำ
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรค ที่ต้องปรับในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยวัณโรค เพื่อให้ร่างกายไม่ป่วยเป็นโรคอื่นอีก ดังนี้
ล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนกินข้าว หรือ หลังจากเข้าห้องน้ำ
ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับคนอื่น
ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนอื่น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้
ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ
ออกกำลังกายเหมาะสม สม่ำเสมอ
ลดความวิตกกังวลและขจัดความเครียด
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรคในช่วงแรกที่เริ่มรักษาและตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะของผู้ป่วย ให้แยกนอนคนเดียว เพื่อไม่ให้คนใกล้ชิดติดวัณโรค
จัดสถานที่ในบ้านให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก แดดส่องถึง เมื่ออยู่บ้าน อย่านั่งเหนือลมให้นั่งใต้ลม หรือนั่งไกลจากพัดลม ไม่มีคนอื่นนั่งข้างหลังผู้ป่วย
สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ให้ทำความสะอาดโดยการนำที่นอน หมอน มุ้ง ซักล้าง และเอาออกตากแดดบ่อยๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค
การกินยาถือเป็นส่วนสำคัญมากที่สุดของการรักษาวัณโรคและการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรค ผู้ป่วยต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้
การกินยารักษาวัณโรคต้องกินอย่างต่อเนื่อง จนครบระยเวลาการรักษา (อย่างน้อย 6 เดือน)
การกินยาไม่ต่อเนื่องทุกวันหรือขาดยาเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะทำให้รักษาไม่หาย
และอาจเกิดวัณโรคชนิดเชื้อดื้อยา
หากผู้ป่วยลืมกินยา ให้กินยามื้อที่ลืมทันทีที่นึกได้ และให้กินยามื้อต่อไปซึ่งเป็นวันเดียวกันห่างกันนานที่สุด ถ้ากังวลว่าทำไม่ถูกต้อง ขอให้รีบโทรสอบถามคลินิก หรือสถานพยาบาลที่รักษา
เมื่อกินยารักษาวัณโรคได้ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการดีขึ้น แต่ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด ต้องกินยาต่อเนื่องไปอีกจนครบการรักษาตามคำสั่งของแพทย์ (อย่างน้อย 6 เดือน)
การรักษาวัณโรคชนิดดื้อยา มีโอกาสหายน้อยมาก ต้องใช้เวลารักษานานขึ้น และต้องแจ้งคนที่นอนในบ้านเดียวกับคนไข้หรือคนที่ใกล้ชิดกัน มาตรวจวัณโรคที่สถานพยาบาลหรือคลินิกวัณโรค เพราะอาจได้รับเชื้อวัณโรค โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเด็กต้องกินยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค
ผู้ดูแลตรวจสอบความถูกต้องของยาสำหรับให้ผู้ป่วยวัณโรค ต้องได้รับยาตามกำหนด ชนิดและขนาดของยาถูกต้อง และสามารถเป็นธุระในการไปรับยาของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมารับยาได้
ผู้ดูแลต้องช่วยกำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรค ต้องได้กินยาทุกเม็ด ทุกมื้อ จนครบถ้วน รวมทั้งให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกินยาครบตามกำหนดการรักษา
หากกินยาไม่ครบ ไม่ต่อเนื่อง หรือหยุดยาไปเอง ก็จะส่งผลต่อการรักษาให้ยากและยาวนานขึ้นไปอีก
ผู้ดูแลจะต้องทำการบันทึกการกินยาของผู้ป่วยวัณโรคทุกวัน ลงในสมุดบันทึกที่สถานพยาบาลมีให้ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่ให้ขาด ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้ง่ายขึ้น
ให้การดูแลสุขภาพร่างกายผู้ป่วยวัณโรค ให้รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พาผู้ป่วยออกกำลังกายสม่ำสมอ ผู้ป่วยได้พักผ่อนเพียงพอ งดสิ่งเสพติด เป็นต้น
การดูแลทางด้านจิตใจ ผู้ดูแลต้องเอาใจใส่แก่ผู้ป่วยวัณโรคปอด การแสดงความเครพนับถือ และให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจในการรักษาพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ป่วยวัณโรคปอด ซึ่งก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ส่วนตัว รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะในการเดินทางมาสถานพยาบาล
หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษา ญาติผู้ดูแลต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกับแพทย์และผู้ป่วยต่อไป
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นวัณโรคและการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่บ้านคือการปฏิบัติร่วมกันทั้งสามฝ่าย ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ญาติผู้ดูแล และแพทย์ผู้รักษา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อให้การรักษาวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จนการรักษาประสบความสำเร็จ
บทความที่น่าสนใจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
เรียบเรียงโดย อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 06/09/2023