การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไทรอยด์ไม่ยุ่งยากนัก โดยการดูแลตัวเองนั้นก็เป็นการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เพียงแต่ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มบางอย่างเพื่อให้อาการจากโรคไทรอยด์ดีขึ้น นอกจากนั้นก็มีการปฏิบัติบางข้อที่ต้องปรึกษาแพทย์และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากที่สุด
การปฏิบัติตัวเมื่อรู้ว่าเป็นโรคไทรอยด์
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไทรอยด์ข้อแรกที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเป็นไทรอยด์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาตรวจติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสารพัดโรคตามมาได้ ดังนั้นควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ควรนอนให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง นอนเตียงนอนที่สบาย อากาศถ่ายเท ไม่มีแสงเล็ดลอด เสียงรบกวนและไม่ควรนอนดึก
ในผู้ที่มีฮอร์โมนผิดปกติควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์สูง รักษายังไม่หายดี ควรรักษาให้ดีขึ้นก่อน และไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม
ไม่ควรสูบบุหรี่ขณะป่วยเป็นไทรอยด์ โดยเฉพาะผู้ที่ไทรอยด์เป็นพิษที่มีตาโปนด้วย เพราะจะทำให้อาการทางตาแย่ลงด้วย
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะอาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นอีก
รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อของการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไทรอยด์ ควรรับประทานให้หลากหลายชนิดอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น ปลาทะเล สาหร่ายทะเล เกลือหรืออาหารเสริมไอโอดีน ควรรับประทานให้พอเหมาะไม่ควรมากจนเกินไป
อาหารที่มีกอยโตรเจนมาก ได้แก่ กะหล่ำปลี หัวผักกาด บรอกโคลี คะน้า หัวหอม กระเทียม เป็นต้น สามารถทำให้เกิดภาวะขาดไอโอดีน เกิดคอพอกและการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติได้
ถ้าไม่ได้รับประทานในปริมาณมากจนเกินไป เช่น ไม่เกินวันละ 1-2 กิโลกรัม และปรุงให้สุก จะไม่เกิดโทษจากอาหารเหล่านี้
ผู้ที่เป็นไทรอยด์ต้องหลีกเลี่ยงสมุนไพรหรือการซื้อยาหรืออาหารเสริมกินเอง ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
หญิงวัยเจริญพันธุ์ หลังรักษาไทรอยด์ดีขึ้นแล้วอาจส่งผลให้มีบุตรง่ายขึ้น ดังนั้นก่อนวางแผนตั้งครรภ์แนะนำให้รักษาโรคไทรอยด์ให้หายดีก่อน และปรึกษาแพทย์ผู้รักษา เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคกำเริบและมีผลแทรกซ้อนต่อแม่และทารกได้
ในกรณีที่ตั้งครรภ์ขณะทำการรักษาโรคไทรอยด์อยู่ ส่วนใหญ่การตั้งครรภ์จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ให้รีบมาฝากครรภ์และพบแพทย์ที่ดูแลรักษาโรคไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์
ถ้ามีอาการผิดปกติ ให้มาตรวจก่อนนัดได้ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย เพื่อจะได้ลดความกังวลใจของคนไข้ได้
สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไทรอยด์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายระหว่างแพทย์และคนไข้ ไม่เช่นนั้นแล้วอาการของโรคไทรอยด์ก็อาจจะไม่มีทางดีขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการนัดติดตามอาการและปฏิบติตามข้อแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดค่ะ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก
เรียบเรียงโดย อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม
แก้ไขล่าสุด : 24/08/2023